สมาคมของทันตแพทย์ในประเทศไทย ได้ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2481 โดยมีชื่อว่า “ไทยทันตแพทย์สมาคม” ได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสมาคมว่า ต้องเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสาขาทันตกรรม ขณะนั้นมีจำนวนสมาชิก ของสมาคมประมาณ 30คน โดยมีศาสตราจารย์ พันเอก หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นนายกสมาคมคนแรกใน พ.ศ. 2481 ใน พ.ศ. 2482 ศาสตราจารย์ พันโท สี สิริสิงห เป็นนายกสมาคม ต่อมาประเทศไทยมีกรณีพิพาทกับประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศส (คือประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชาในปัจจุบัน) สมาชิกของสมาคมหลายท่านต้องออกไปราชการสนาม ทำให้กิจการของสมาคมต้องหยุดชะงักไป และสมาคมต้องล้มเลิกไปตามพระราชบัญญัติ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติในระยะเวลาต่อมา
ในปลายปี พ.ศ. 2488 ทันตแพทย์ผู้ใหญ่หลายท่าน อันมีศาสตราจารย์ พันเอก หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นหัวหน้า ได้เห็นพ้องต้องกันว่า สมควรจัดตั้งสมาคมของทันตแพทย์ขึ้นใหม่ โดยขยายกิจการของสมาคมให้กว้างขวางขึ้น จึงได้ตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งร่างข้อบังคับของสมาคมขึ้น โดยมีชื่อว่า “ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย” ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เริ่มเปิดทำการขึ้นในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2489 มีสำนักงานชั่วคราวครั้งแรกของสมาคม ตั้งอยู่ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อาคาร 5 ถนนราชดำเนิน จังหวัดพระนคร โดยมีวัตถุประสงค์ของสมาคม ดังนี้
1) บำรุง และส่งเสริมการศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์
2) บำรุง และส่งเสริมการประกอบวิชาชีพในสาขาทันตกรรม
3) ปลูกสามัคคีธรรม และมารยาทอันดีงาม
4) ช่วยเหลือ เผยแพร่ความรู้ในการบำบัด และอนามัยทางทันตแพทย์แก่ประชาชน
5) บำรุงการกีฬา และให้ความบันเทิงแก่สมาชิก
ต่อมาในปลายปี พ.ศ.2490 ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมได้มีมติให้ย้ายสำนักงานของสมาคม ไปอยู่รวมกับสำนักงานของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย ณ บ้านเลขที่ 1/3 ถนนสีลม ตำบลศาลาแดง อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร (ขณะนี้เป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานี) และได้ร่วมกันจัดงานการเปิดสถานที่ของสมาคมทั้งสามสมาคม เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน พ.ศ. 2491ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในขณะนั้นมีสมาชิกประมาณเกือบ 200 คน
เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2500 ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือที่ 31/2500 ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2500 กราบเรียนราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ขอให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาสำนักพระราชวังได้มีหนังสือที่ 180/2500 ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2501 แจ้งให้ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยทราบว่า ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว เป็นอันทรงรับทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามที่ขอพระมหากรุณา จึงกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2501
ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้เลิกสัญญาเช่าที่ตั้งของสมาคมที่อยู่ร่วมกับแพทยสมาคมฯ และเภสัชกรรมสมาคมฯ ณ บ้านเลขที่ 1/3 ถนนสีลม ตำบลศาลาแดง อำเภอบางรัก พระนคร ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ย้ายที่ทำการสมาคม มาใช้สถานที่ ชั้น 5 ของตึกทันตรักษ์วิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นสถานที่ทำการชั่วคราวของสมาคม เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2510
ใน พ.ศ. 2515 ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อแก้ไขข้อบังคับของสมาคม เพื่อให้การบริหารงานของสมาคมมีขอบเขตกว้างขวางขึ้น โดยมุ่งสู่การมีสุขภาพในช่องปากที่ดีของประชาชน สาระสำคัญในการแก้ไขข้อบังคับของสมาคมพอสรุปได้ คือ
1) กำหนดวัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชน และวิทยาการทางด้านทันตแพทยศาสตร์ให้มีความเจริญยิ่งขึ้น อันเป็นการมุ่งสู่ประชาชนให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
2) ขยายระยะเวลาในการบริหารงานสมาคมจาก 1 ปีเป็น 2 ปี
3) กำหนดให้มีการกันเงินจำนวนหนึ่งจำนวนเงิน 1,600,000.00 บาท เพื่อเป็นเงินกองทุนของสมาคมอันเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเงินของสมาคม โดยที่เงินจำนวนนี้จะนำไปใช้ในการดำเนินการตามปกติประจำของสมาคมไม่ได้ เว้นแต่กรณีฉุกเฉินและจำเป็น แต่เมื่อได้นำเอาไปใช้แล้ว จะต้องนำมาชดเชยให้เต็มจำนวนตลอดเวลาโดยมิชักช้า
คณะกรรมการอำนวยการทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ปี พ.ศ. 2521-2522 ได้มีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2521 ให้ย้ายที่ทำการชั่วคราวของสมาคมจากอาคารชั้นที่ 5 ตึกทันตรักษ์วิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปตั้งอยู่ที่อาคารชั้นที่ 4 ตึก 2 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2521 โดยมีระยะเวลาที่อยู่ ณ ที่ตั้งนี้เป็นเวลา 1ปี
เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2522 ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้ซื้อที่ดินและบ้านลักษณะ TOWN HOUSE เนื้อที่ 35 1/10ตารางวา บ้านเลขที่ 12 ถนนสุขุมวิท 23 (ซอยประสานมิตร) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสถานที่ตั้งของสมาคม
เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 107/58 และ 107/400 (ปัจจุบันคือบ้านเลขที่ 71) ซอยปรางทิพย์ ลาดพร้าว 95 ถนนลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร 10310 ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการของสมาคมในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2533 ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้ขายที่ดินและบ้านลักษณะ TOWN HOUSE บ้านเลขที่ 12 ถนนสุขุมวิท 23ซอยประสานมิตร เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันนี้ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อันเป็นสมาคมวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 71 ลาดพร้าว 95 (ซอยปรางทิพย์) เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310 โทรศัพท์ 02 539-4748โทรสาร 02 514-1100
สถานภาพของทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ
ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ มีความเป็นปึกแผ่น และมีความมั่นคงในสถานภาพต่างๆ ดังต่อไปนี้
2.1 สถานภาพทางการเงิน อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
2.2 สถานภาพทางสมาชิก ณ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2543 สมาคมมีสมาชิกรวมทั้งสิ้นจำนวน 5,633 คน แยกออกเป็น
สมาชิกสามัญตลอดชีพ 3,022 คน
สมาชิกสามัญรายปี 2,258 คน
สมาชิกสมทบ 350 คน
วิสามัญสมาชิก 3 คน
2.3 สถานภาพของชมรมและสมาคมวิชาชีพที่สมทบทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ มีชมรมและสมาคมวิชาชีพทางทันตแพทยศาสตร์ สมทบ ดังนี้
2.3.1 สมาคมทันตกรรมจัดฟันแห่งประเทศไทย
2.3.2 สมาคมศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลแห่งประเทศไทย
2.3.3 สมาคมทันตกรรมประดิษฐ์ไทย
2.3.4 ชมรมทันตกรรมรากเทียมแห่งประเทศไทย
2.3.5 ชมรมปริทันตวิทยาแห่งประเทศไทย
2.3.6 ชมรมทันตแพทย์ชลบุรี
2.3.7 ชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย
2.3.8 ชมรมเอ็นโดดอนติกส์แห่งประเทศไทย
2.3.9 ชมรมทันตกรรมสำหรับเด็กแห่งประเทศไทย
2.3.10 ชมรมทันตกรรมทั่วไปแห่งประเทศไทย